วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 สว.ชุดพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งและคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดวาระลงแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ที่มีที่มาแตกต่างออกไป มาจากการ “เลือกกันเอง” ในบรรดาผู้สมัคร การเลือกแบ่งเป็นระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ซึ่งที่มา สว. จากการเลือกกันเอง ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดวิธีการได้ สว. จากการเลือกกันเอง
การกำหนดที่มา สว. ให้มาจากการเลือกกันเอง หมายความว่า ประชาชนทั่วไปจะไม่มีสิทธิเลือก สว. ที่มาทำหน้าที่พิจารณากฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชน ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เคาะเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย และจ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร สว. 2,500 บาท จึงจะมีสิทธิเลือก สว.
สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) หากสนใจสมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่อเลือกคนอื่น หรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) กำหนดรายละเอียดกระบวนการสมัครและการเลือก สว. ไว้แล้ว ผู้ที่จะสมัคร สว. ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง มาดูกันเลย
รู้วัน-สถานที่รับสมัคร สว. หลัง กกต. ประกาศ
สำหรับวันรับสมัคร สว. ตามพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 12 และระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 41 กำหนดว่า หลังพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศกำหนดรับสมัครและวันเลือก สว. ภายในห้าวัน ซึ่งสว. ชุดพิเศษ 250 คน จะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นี้ วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ถือว่าเป็นวันที่เร็วที่สุดที่จะออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้นวันที่จะทราบว่าการเลือก สว. จะเกิดขึ้นวันไหน จะอยู่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ กกต. จะประกาศวันเลือก สว. ได้ช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับพระราชกฤษฎีกาเช่นกัน หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกพระราชกฤษฎีกาช้า กกต. ก็จะประกาศวันเลือก สว. ช้าตามไปด้วย
การกำหนดวันรับสมัคร สว. วันที่รับสมัครจะเริ่มต้นขึ้นไม่เกิน 15 วันนับตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และกกต. จะต้องกำหนดกรอบระยะเวลาวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวันแต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน
หากพระราชกฤษฎีกามีผลวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 กกต. สามารถกำหนดวันแรกที่เริ่มเปิดรับสมัคร ได้เป็นวันที่ 13-27 พฤษภาคม 2567 หาก กกต. กำหนดวันที่เริ่มเปิดรับสมัคร เป็นวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ก็อาจจะกำหนดเวลารับสมัครเป็นวันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 2567 แต่ถ้ากกต. กำหนดวันที่เริ่มต้นสมัครได้เร็ว ช่วงเวลาที่เปิดรับสมัครก็จะขยับเร็วขึ้นด้วย ผู้สมัครจะมีเวลาในการเตรียมตัว เตรียมเอกสารมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับ กกต.
สำหรับสถานที่สมัคร ตามพ.ร.ป.สว. ฯ. มาตรา 13 (4) กำหนดอำเภอที่ผู้สมัครจะต้องสมัคร ไว้ดังนี้
- อำเภอที่เกิด
- อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
- อำเภอที่ทำงานอยู่เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัคร
- อำเภอที่เคยทำงาน เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
- อำเภอที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
- อำเภอที่สถานศึกษาที่เคยศึกษามาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาตั้งอยู่
การเลือกอำเภอที่จะไปสมัคร จะมีผลในขั้นตอนการเลือก สว. ในระดับอำเภอ
ตัวอย่าง
นางสาวสมหญิง
- เกิดที่ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
- เรียนมัธยมที่ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร หกปีการศึกษา
- ทำงานที่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาแล้ว 12 ปี
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ติดต่อกันสามปี
นางสาวสมหญิง สามารถ “เลือก” สมัครได้ที่อำเภอใดอำเภอหนึ่งข้างต้นก็ได้ เลือกได้เพียงอำเภอเดียวเท่านั้น หากสมัครอำเภอหนึ่งแล้วจะไปสมัครอีกอำเภอไม่ได้ (พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 15 วรรคสอง และระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 53 วรรคแรก)
ส่วนสถานที่ที่จะไปยื่นเอกสารในสมัคร ว่าหากจะสมัครที่อำเภอนี้ จะต้องไปสมัคร ณ สถานที่ใด ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 42 กำหนดให้ ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศสถานที่รับสมัคร ปิดประกาศสถานที่รับสมัคร รวมทั้งประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครเลือก ณ ที่ว่าการอำเภอ และเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ที่สนใจจะสมัคร สว. อาจต้องติดตามดูข้อมูลสถานที่รับสมัครผ่านทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของ กกต. หรือไปดูประกาศที่ที่ว่าการอำเภอ
อยากสมัคร สว. ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง
ขอรับใบสมัครที่สำนักงานเขต-อำเภอ
หลังจากทราบวันรวมถึงสถานที่รับสมัครเรียบร้อยแล้ว กระบวนการแรกคือ ผู้ที่อยากสมัคร สว. จะต้องไปขอรับเอกสารการสมัครที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตก่อน โดยในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 49 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์ที่จะสมัครนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขบัตรประชาชนของผู้ถือบัตร หรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน ThaID) ไปติดต่อขอรับเอกสารการรับสมัครได้จากนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสำหรับกรุงเทพมหานคร
ด้านนายทะเบียนจะเตรียมเอกสารสามอย่างให้แก่ผู้ประสงค์จะสมัคร สว. (ข้อ 50) ได้แก่
(1) แบบใบสมัคร (สว. 2)
(2) แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)
(3) แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4)
ยื่นใบสมัคร
หลังจากผู้ประสงค์สมัคร สว. ไปรับเอกสารมาและจัดการเอกสารเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการยื่นใบสมัคร ในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 51 กำหนดให้ ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการการสมัครด้วยตนเอง ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด และต้องไม่เกินกรอบระยะเวลารับสมัคร
เอกสารที่เกี่ยวข้อง (สามารถดูตัวอย่างได้ในท้ายระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) และหลักฐานที่ผู้สมัครจะต้องยื่น มีดังนี้
1. แบบใบสมัคร (สว. 2)
2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)
3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ยกเว้นผู้ที่จะสมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ตามพ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 11 (14) และ (15) ไม่ต้องใช้เอกสารนี้
เอกสารดังกล่าว ต้องมีผู้รับรองและพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริงและต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรองและพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องมาด้วย
พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 45 ยังกำหนดว่า ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานใช้ประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี
4. สำเนาบัตรประชาชน
5. สำเนาทะเบียนบ้าน
6. ใบรับรองแพทย์
สำหรับรูปแบบของใบรับรองแพทย์ ผู้สมัครสามารถเลือกใช้ใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยจะต้องออกโดยแพทย์ผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับใบอนุญาตจากแพทย์สภาเท่านั้น
โดยลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป. สว. มาตรา 14 กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครที่ต้องเป็นหลักฐานประกอบในใบรับรองแพทย์ไว้สองส่วน คือ (1) ติดยาเสพติดให้โทษ และ (6) วิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้คำตอบว่าใบรับรองแพทย์ของผู้สมัครที่จะนำไปยื่นเป็นหลักฐานประกอบจะต้องระบุว่าไม่ได้ติดยาเสพติดให้โทษและไม่ได้วิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบจะต้องมีการยืนยันจากแพทย์ผู้ตรวจในส่วนนี้ด้วย
7. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละสองรูป สำหรับปิดแบบข้อมูล สว. 3
8. หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอที่ผู้สมัครเลือกสมัคร ได้แก่
- หลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครเกิดในอำเภอที่สมัคร เช่น สูติบัตร
- หลักฐานที่แสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปี เช่น ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่ออยู่
- หลักฐานที่แสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี เช่น หลักฐานการรับราชการของหน่วยงานต้นสังกัด หรือหนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่ผู้สมัครรับเลือกเคยทำงานเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือก หากผู้สมัครประกอบอาชีพอิสระหรือค้าขายอิสระสามารถใช้หลักฐานการเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตอำเภอที่สมัครเลือกได้
- หลักฐานที่แสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
- หลักฐานที่แสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา เช่น วุฒิการศึกษา
9. หลักฐานอื่นๆ เช่น
- เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
- หลักฐานการลาออกกรณีเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
10. เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 2,500 บาท โดยการชำระเงินค่าสมัคร ผู้สมัครสามารถชำระเป็นเงินสด หรือตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี (ข้อ 52 วรรคท้าย)
11. สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตามข้อ 46 และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองตามข้อ 47
ดูคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. 67 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/senate67
สำหรับเอกสารในข้อที่ 11 ผู้สมัครจำเป็นต้องตรวจสอบสถานะของตนเองว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพ.ร.ป.สว. ฯ และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเลือกตั้ง สส. และกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
หากผู้สมัครมีเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมว่าตนไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่น ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนวันรับสมัครแล้ว หรือการไม่ได้มีหุ้นหรือเป็นเจ้าของสื่อในครอบครอง ให้นำเอกสารเหล่านั้นไปยื่นประกอบการสมัครด้วย
โดยสามารถตรวจสอบสถานะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ที่ https://party.ect.go.th/checkidpartyตรวจสอบว่าถูกจำกัดสิทธิสมัคร สว. ไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ไปเลือกตั้ง สส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบสองปี (ตั้งแต่พฤษภาคม 2565 ลงมา) และไม่ได้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้ที่ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/absvote/
สำหรับเอกสารในข้อที่ 4 5 8 9 และ 11 ผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานทุกฉบับและทุกหน้าด้วย หากผู้สมัครลงรายชื่อไม่ได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือแทน หากไม่มีนิ้วมืออยู่เลยให้ได้รับการยกเว้น และให้ผู้อำนวยการการการเลือกระดับอำเภอหมายเหตุในเอกสารพร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้
หากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอได้รับใบสมัครของผู้สมัครแล้วเห็นว่าไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ก็จะคืนใบสมัคร ค่าธรรมเนียมการสมัคร พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานการสมัครให้แก่ผู้สมัคร เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลหรือเอกสารครบถ้วนแล้วนำมายื่นใหม่ภายในระยะเวลาการรับสมัคร (ข้อ 52) หากว่าครบถ้วนผู้อำนวยการการเลือกตั้งจะออกใบรับใบสมัคร (สว.อ. 10) แก่ผู้สมัคร และทำหนังสือแจ้งผู้สมัครมารับแบบฟอร์มข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร (สว.อ. 11)
เมื่อสมัครไปแล้ว ห้ามถอนการสมัคร และห้ามยื่นใบสมัครในอำเภอนั้นหรืออำเภออื่นอีก
หากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอพบว่าผู้สมัครใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือสมัครมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือหนึ่งอำเภอหรือแสดงข้อมูลในใบสมัครหรือเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครอันเป็นเท็จให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอสั่งไม่รับสมัครในกรณีที่สมัครไว้แล้วให้ถือว่าการสมัครของผู้นั้นเป็นโมฆะและให้ลบชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 57 วรรคสอง และข้อ 60)
ประกาศรายชื่อและข้อมูลผู้สมัคร
หลังจากผ่านกระบวนการรับสมัครแล้ว ต่อมาก็จะเป็นขั้นตอนของการประกาศรายชื่อและข้อมูลของผู้สมัคร
ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 57 กำหนดให้ ภายในห้าวัน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอตรวจสอบเอกสารและหลักฐานตามสมัครให้เสร็จสิ้น หากตรวจสอบแล้วและเห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่ถูกจำกัดสิทธิ และได้สมัครเพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว ให้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามแบบ สว.อ. 13 ทุกกลุ่มที่มีผู้สมัครในเขตอำเภอ โดยแยกเป็นกลุ่มให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้ประกาศไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่เลือกและจัดทำข้อมูลเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร จะมีหมายเลขประจำตัวผู้สมัครชื่อตัวและชื่อสกุลผู้สมัครอายุอาชีพและวุฒิการศึกษาสูงสุดและกลุ่ม สำหรับการกำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครในแต่ละกลุ่มให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวเรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อผู้สมัคร เว้นแต่กรณีประกาศรายชื่อตามข้อ 59 วรรคสองให้กำหนดหมายเลขผู้สมัครนั้นเพิ่มเติมต่อท้ายจากหมายเลขผู้สมัครลำดับสุดท้ายในบัญชีรายชื่อของผู้สมัครกลุ่มนั้น
กรณีข้อ 59 วรรคสอง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อผู้สมัครพบว่าไม่มีชื่อของตนเองในประกาศบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในกระบวนการพิจารณา เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับอำเภอได้รับแจ้งคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว ถ้าศาลฎีกามีคำสั่งให้รับสมัครบุคคลดังกล่าว ให้ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้นั้นเพิ่มเติม ตามแบบ สว.อ. 14 พร้อมทั้งแจ้งการรับสมัครให้ผู้นั้นทราบ แต่ถ้าศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้รับสมัครบุคคลดังกล่าวให้แจ้งคำสั่งของศาลฎีกาให้ผู้นั้นทราบด้วย ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน เมื่อถึงวันเลือก ถ้าศาลฎีกายังไม่ได้มีคำวินิจฉัย ให้ผู้อำนวยการเลือกดำเนินการเลือกต่อไปโดยถือว่ามีผู้สมัครเพียงเท่าที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่มีผลกระทบต่อการเลือกที่ดำเนินการไปแล้ว
เตรียมตัวไปเลือก ต้องทำอะไรบ้าง?
ตรวจสอบสถานที่เลือกที่ที่ว่าการอำเภอ-ช่องทางออนไลน์
เมื่อกระบวนการรับสมัครและพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมา ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจะประกาศกำหนดสถานที่เลือกในเขตอำเภอก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน (ตามข้อ 62) ตามแบบ สว.อ.16 กล่าวคือ จะทราบวันเลือกล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันเลือก โดยจะปิดประกาศไว้ที่ที่ว่าการอำเภออำเภอ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด สถานที่เลือกในวันเลือก และประกาศเผยแพร่สถานที่เลือกทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย
ตรวจสอบข้อมูล-หมายเลขประจำตัว
ก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าสามวัน ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกในการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันของแต่ละกลุ่มตามแบบ สว.อ. 18 จากประกาศบัญชีรายชื่อของผู้สมัคร โดยจะมีรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร เลขประจำตัวประชาชน ชื่อตัว – ชื่อสกุล และเพศ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 65) ส่วนในกรณีที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลฎีกาตามข้อ 59 วรรคสองจะต้องดำเนินการเพิ่มชื่อผู้สมัครดังกล่าวในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกด้วย
รายงานตัวต่อกรรมการในระดับอำเภอ ส่งมอบเครื่องมือสื่อสารให้เจ้าหน้าที่
ในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 85 กำหนดว่าเมื่อถึงวันที่เลือก เวลา 08.00 น. ให้ผู้สมัครที่มีเครื่องมือสื่อสารส่งมอบเครื่องมือสื่อสารและรายงานตัวต่อคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกของกลุ่มที่ตนเป็นผู้สมัคร พร้อมทั้งแสดงเอกสารการรายงานตัว เช่น บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุหรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตรนั้น
เมื่อคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกรับรายงานตัวผู้สมัครครบทุกคนตามข้อ 85 แล้วหรือเมื่อพ้นเวลา 09.00 น. ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจะประกาศปิดการรับการรายงานตัวและให้ประชุมชี้แจงผู้สมัครเกี่ยวกับกระบวนการลงคะแนนการนับคะแนนและการรายงานผลการนับคะแนนให้ผู้สมัครทราบ รวมถึงถ้ามีผู้สมัครที่ยังไม่ได้รายงานตัวมาปรากฏอยู่ในบริเวณสถานที่เลือกก่อนเวลา 09.00 น. ให้คณะกรรมการประจำสถานที่รับเลือกรับรายงานตัวผู้สมัครผู้นั้น หากผู้สมัครไม่มารายงานตัวหรือมาไม่ทันตามเวลาที่กำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
สำหรับเครื่องมือสื่อสาร เป็นสิ่งที่ต้องห้ามนำเข้าไปในสถานที่เลือกเด็ดขาด พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 38 กำหนดว่า ในระหว่างการเลือกทั้งระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ห้ามผู้สมัครห้ามนำเครื่องมือที่อาจจะใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร บันทึกภาพหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นๆ เข้าไปในสถานที่เลือก รวมทั้งยังห้ามใช้งานอีกด้วย เว้นแต่จะเป็นผู้สมัครซึ่งเป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจาก กกต. ก่อน หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการใช้หรือการนำอุปกรณ์สื่อสารเข้าไปในสถานที่เลือกนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสถานที่เลือก จะมีโทษหนักขึ้นเป็นสองเท่า และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี (มาตรา 71)
เลือกในระดับอำเภอ
ในการเลือกในระดับอำเภอ พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 40 และระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ กำหนดรายละเอียดการเลือกไว้ ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มรวมกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนดไว้
ขั้นตอนแรก เลือกกันเองภายในกลุ่ม
- กลุ่มใดที่ที่มีผู้สมัครไม่เกินห้าคน ให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกในขั้นต้นเลย แต่ถ้าในอำเภอ มีผู้สมัครกลุ่มใดๆ ที่สมัครมาเกินห้าคน ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะเลือกตนเองก็ได้ แต่ห้ามลงคะแนนให้บุคคลใดได้เกินหนึ่งคะแนน
- การลงคะแนนจะต้องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกในกลุ่มเดียวกันด้วยตัวเลขอารบิกใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ได้ช่องละหนึ่งหมายเลข
- เมื่อลงคะแนนแล้ว ให้พับบัตรลงคะแนนเพื่อไม่ให้ผู้อื่นเห็นว่าลงคะแนนให้กับผู้ใดและให้นำบัตรลงคะแนนใส่ลงในหีบบัตรลบงคะแนนด้วยตนเอง กรณีผู้สมัครซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการลงคะแนน คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกผู้ทำหน้าที่ควบคุมคูหาลงคะแนนของแต่ละกลุ่มจะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้
- เมื่อลงคะแนนแล้วเสร็จให้ ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอนับคะแนนโดยเปิดเผย ในระหว่างลงคะแนน หากผู้มีสิทธิเลือกเห็นว่าการดำเนินการลงคะแนนไม่ถูกต้องให้ทำการทักท้วงตามแบบ สว.อ.24 และให้คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกบันทึกคำทักท้วง แล้วให้ผู้ทักท้วงและคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกไม่น้อยกว่าสองคนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานไม่น้อยกว่าสองคน พร้อมทั้งบันทึกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยลงในรายงานเหตุการณ์ประจำการเลือก (สว.อ.23) ในกรณีผู้ทักท้วงไม่ยอมรับการดำเนินการของคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก ให้รายงานผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอและให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอรายงานให้คณะกรรมการเลือกประจำจังหวัดโดยเร็ว
- ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดห้าลำดับแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคน ให้จับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือก
- ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างดำเนินการเลือกขั้นต่อไปให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกมีเพียงเท่าที่มีอยู่ ผู้สมัครจะออกจากสถานที่เลือกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและได้รับอนุญาตเท่านั้น
ขั้นตอนที่สอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม
- เมื่อมีผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้รับเลือกข้างต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากการแบ่งสาย หากตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีการจับสลากเพื่อหาตัวแทนกลุ่ม เมื่อได้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ตัวแทนของกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนเองจะอยู่ในสายใดจนครบทุกกลุ่ม
- สำหรับการแบ่งกลุ่มให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอแบ่งสายออกเป็นไม่เกินสี่สายแต่ละสายประกอบไปด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม เช่น ในอำเภอนั้นมีผู้สมัครจำนวน 20 กลุ่ม เป็นแบ่งสี่สาย สายละห้ากลุ่ม หรือจำนวน 11 กลุ่ม ให้แบ่งเป็นสามสาย สายละสี่กลุ่มสองสายและสามกลุ่มหนึ่งสาย ในรายละเอียดการแบ่งสาย สามารถดูบัญชีจำนวนกลุ่มในแต่ละสาย ท้ายระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ
- ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นลงคะแนนให้กับผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน
- ในการลงคะแนนจะต้องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน โดยเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกด้วยตัวเลขอารบิกใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” โดยแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ในขั้นตอนนี้ ไม่สามารถลงคะแนนให้บุคคลในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองได้
- หลังจากที่มีการเลือกและมีการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับในกลุ่มนั้นเพื่อดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป กรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสามคน ให้ผู้ที่มีคะแนนเท่ากันในแต่ละกลุ่มจับสลากกันเองว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกและในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
เลือกในระดับจังหวัด
สำหรับการเลือกในระดับจังหวัด พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 41 และระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ กำหนดกระบวนการเลือกไว้ สาระสำคัญ คือ
ขั้นตอนแรก เลือกกันเองภายในกลุ่ม
- หลังจากที่มีผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในแต่ละอำเภอสูงสุดกลุ่มละสามคนแล้ว ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ จากทุกกลุ่ม จะต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันถือว่าหมดสิทธิที่จะเลือกและหมดสิทธิได้รับเลือก
- ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอรวมกันครบทุกอำเภอแล้วไม่เกินห้าคน หรือมีผู้มารายงานตัวภายในกำหนดเวลาไม่เกินห้าคน ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอกลุ่มนั้นไม่ต้องดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทุกคนซึ่งมารายงานตัวในระดับจังหวัดกลุ่มนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น แต่ถ้ามีเกินห้าคน ก็ต้องดำเนินการเลือกกันเอง ผู้ที่ได้รับเลือกในระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตัวเองก็ได้แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนไม่ได้
- การลงคะแนนจะต้องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกในกลุ่มเดียวกันด้วยตัวเลขอารบิกใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ได้ช่องละหนึ่งหมายเลข
- ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามห้าลำดับแรกเป็นผู้ได้รับเรื่องขั้นต้นของแต่ละกลุ่มในกรณีใดที่มีผู้มีคะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคนให้ใช้วิธีการจับสลากคล้ายกับการเลือกในระดับอำเภอ แต่ถ้าไม่มีผู้ได้รับเลือกข้างต้นของแต่ละกลุ่มแล้วให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้แทนจับสลากหากตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีการจับสลากหาผู้แทน (คล้ายกับระดับอำเภอ)
ขั้นตอนที่สอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม
- สำหรับการแบ่งกลุ่มให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอแบ่งสายออกเป็นไม่เกินสี่สายแต่ละสายประกอบไปด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่า สามกลุ่ม (คล้ายกับระดับอำเภอ)
- ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นลงคะแนนให้กับผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ในขั้นตอนนี้ ไม่สามารถลงคะแนนให้บุคคลในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองได้ การลงคะแนนจะต้องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน โดยเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกด้วยตัวเลขอารบิกใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” โดยแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน
- หลังจากที่มีการเลือกและมีการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับในกลุ่มนั้นเพื่อดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป
เลือกในระดับประเทศ
ก่อนการเลือกระดับประเทศไม่น้อยกว่าสามวัน ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดจะจัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของแต่ละกลุ่มที่อยู่ภายในจังหวัดของตนพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ที่ได้รับเลือกในระดับจังหวัดมารับเอกสารตามแบบ สว.จ. 51 เพื่อให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดนำมาในวันเลือกระดับประเทศ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 145)
กระบวนการเลือกระดับประเทศ พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 42 และระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ หมวด 5 การดำเนินการเลือกระดับประเทศ กำหนดรายละเอียดไว้ สาระสำคัญคือ
ขั้นตอนแรก เลือกกันเองภายในกลุ่ม
- บุคคลผู้มีชื่อตามบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดของแต่ละกลุ่มเป็นผู้มีสิทธิเลือกระดับประเทศ การดำเนินการเลือกระดับประเทศจะมีความคล้ายกับการเลือกในระดับอำเภอ โดยให้ดำเนินการด้วยวิธีการให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มลงคะแนน โดยเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกในกลุ่มเดียวกันด้วยตัวเลขอารบิกใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ได้ช่องละหนึ่งหมายเลข และให้เลือกผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตนเองก็ได้แต่จะลงคะแนนให้ผู้สมัครใดเกินหนึ่งคะแนนไม่ได้
- เมื่อมีการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ 40 คนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม กรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันให้มีการจับสลาก เช่นเดียวกันกับในระดับอำเภอและจังหวัด
- หากมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 40 คนแต่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ให้ผู้ได้รับเลือกข้างต้นของกลุ่มนั้นเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้ากลุ่มใดมีไม่ถึง 20 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่เพื่อให้ได้ครบตามจำนวน (ผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกในขั้นต้นในระดับประเทศ จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เลือก เผื่อว่าในกรณีที่มีไม่ครบ 20 คน อาจะมีโอกาสได้เลือกใหม่และอาจได้รับเลือก)
- ในการเลือกกันเองใหม่ให้ได้ครบตามจำนวน (20 คนขึ้นไป) ให้เลือกกันเองใหม่ให้ครบตามจำนวนเท่านั้น ต้องไม่เกินจำนวนที่ขาดไป และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเลือกในขั้นถัดไป
ขั้นตอนที่สอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม
- เมื่อได้ผู้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้จับสลาก หากตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีสลากหาตัวแทนกลุ่ม สำหรับการแบ่งกลุ่มให้แบ่งสายออกเป็นไม่เกินสี่สายแต่ละสายประกอบไปด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่ากลุ่ม (คล้ายกับระดับอำเภอ)
- ให้ผู้ได้รับเลือกข้างต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกินห้าคน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองไม่ได้
- เมื่อมีการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันและมีการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อพ้นกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันตามที่ กกต. ได้รับรายงาน ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องสุจริตและเที่ยงธรรมให้ประกาศผลการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
- ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่ 10 เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มนั้น และผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 11 ถึงลำดับที่ 15 ของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น กรณีมีคะแนนเท่ากัน หากว่ามีผู้ที่อยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากันให้จัดให้มีการจับสลากเพื่อเรียงลำดับต่อไป
- ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเลือกเท่ากัน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ จัดให้มีการจับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับคะแนนในแต่ละลำดับ
- ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเลือกทุกคนมีคะแนนเท่ากันเกินกว่า 15 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดทำสลากเท่ากับจำนวนผู้ได้รับเลือกที่มีคะแนนเท่ากันจะต้องจับสลาก เป็นสลากซึ่งมีข้อความ “ได้รับเลือกลำดับที่ ..” โดยเรียงลำดับที่ 1 ไปจนถึงลำดับที่ 15 จำนวน 15 ใบ และมีข้อความว่า “ไม่ได้รับเลือก” เท่ากับจำนวนผู้สมัครรับเลือกที่มีคะแนนเท่ากันจะต้องจับสลาก และให้ผู้สมัครผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันทำการจับสลากเรียงตามหมายเลขประจำตัวผู้สมัครจับสลากทุกคนจนครบ ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันจับสลากซึ่งมีข้อความ “ได้รับเลือก ลำดับที่ ..” ผู้นั้นให้เป็นผู้ที่รับเลือกในลำดับดังกล่าว หรือกล่าวง่ายๆ คือ หากมีคะแนนเท่ากันเกิน 15 คน ให้จับสลากเลือกว่าผู้ใดจะจับฉลากได้อยู่ในกลุ่ม 15 คน และผู้ใดจะเป็นผู้โชคร้ายที่ถูกคัดออก
การเลือก สว. ทั้งสามระดับ ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด ประเทศมีลักษณะคล้ายคลึงกันและอาจต่างกันในบางส่วน ส่วนที่คล้ายกันคือ ในขั้นแรก ผู้สมัครจะต้องเลือกกันเองภายในกลุ่ม จากนั้นจึงแบ่งสายและให้เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ระดับประเทศ จำนวนผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะอยู่ที่ 40 คน (20 คนขึ้นไป) และการเลือกในขั้นแบ่งสายและให้เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกันถือเป็นขั้นสุดท้ายที่จะมีผู้ที่ได้รับเลือกจากเป็น สว. 10 คน และอีกห้าคนเป็นบัญชีรายชื่อสำรอง
ข้อควรระวังในบัตรลงคะแนน
การลงคะแนนเลือกผู้สมัครต้องระมัดระวังการกระทำที่อาจมีความผิดตาม พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 72 (สำหรับข้อห้ามในมาตรา 50 มาตรา 51 และมาตรา 52) มาตรา 73 (สำหรับข้อห้ามในมาตรา 54 และมาตรา 55) และมาตรา 80 (สำหรับกรณีจงใจทำบัตรชุดรุดหรือเสียหาย) โดยมีข้อห้ามดังต่อไปนี้
- ห้ามผู้สมัครใช้บัตรอื่นแทนบัตรลงคะแนนที่ กกต. กำหนด (มาตรา 50)
- ห้ามผู้สมัครนำบัตรลงคะแนนออกไปจากสถานที่เลือก (มาตรา 51)
- ห้ามผู้สมัครจงใจทําเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรลงคะแนน (มาตรา 52)
- ห้ามผู้สมัครใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรลงคะแนนที่ลงคะแนนแล้ว (มาตรา 54)
- ห้ามผู้สมัครนำบัตรที่ลงคะแนนแล้วไปแสดงต่อผู้อื่นว่าเลือกหรือไม่เลือกผู้ใด (มาตรา 55)
- ห้ามผู้สมัครใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรลงคะแนนที่ลงคะแนนแล้ว (มาตรา 54)
- ห้ามผู้สมัครนำบัตรที่ลงคะแนนแล้วไปแสดงต่อผู้อื่นว่าเลือกหรือไม่เลือกผู้ใด (มาตรา 55)
- ห้ามจงใจทำให้บัตรชำรุดเสียหายหรือทำบัตรเสีย หรือทำให้บัตรเสียกลายเป็นบัตรที่ใช้ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 80)
สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งทั้งสามข้อ ตามมาตรา 50 มาตรา 51 และมาตรา 52 กฎหมายกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 72) และ สำหรับโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรา 54 และมาตรา 55 ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 73 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้บัตรที่มีลักษณะในช่องเขียนหมายเลขผู้สมัครช่องหนึ่งช่องใดจะไม่ให้นับคะแนนสำหรับช่องหมายเลขนั้น โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ. ข้อ 104)
1. บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
2. บัตรที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเป็นเลขอารบิก
3. บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” เกินกว่าหนึ่งหมายเลขผู้สมัครในช่องเดียวกัน
4. บัตรที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” และให้นับคะแนนใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ที่สามารถนับคะแนนได้
บัตรที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นบัตรเสียทั้งฉบับและไม่ให้นับเป็นคะแนน (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.ฯ ข้อ 105)
- บัตรปลอม
- บัตรที่ไม่ใช่บัตรซึ่งคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกมอบให้
- บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรลงคะแนนนอกจากหมายเลขผู้สมัคร เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
- บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
- บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
- บัตรที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
- บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเกินจำนวนที่กำหนด
- บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน
- บัตรที่มีลักษณะตามข้อ 104 ซึ่งลงคะแนนเลือกผู้สมัครเพียงคนเดียว